Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

รักวัวให้ผูก รักลูก...ไม่ตี!

Posted By Plook TCAS | 18 ก.ย. 66
232 Views

  Favorite

          หากลูกตัวน้อยวัยประถมทำผิดพลาดแล้วโดนตี ผิวเนื้ออ่อน ๆ ที่ถูกทุบตีไปก็เจ็บตัวเปล่า และเราซึ่งเป็นผู้กระทำก็ต้องเจ็บปวดไปกับลูกด้วยหลังเหตุการณ์ผ่านไปแล้ว และเห็นร่องรอยของความเจ็บช้ำหรือบาดแผลที่เนื้อตัวของลูก เข้าทำนอง “หยิกเล็บก็เจ็บเนื้อ” เพราะเราเองก็รักลูกดังดวงใจ หากแต่ทำไปเพราะอารมณ์โกรธ โมโห ไม่พอใจที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงและปัจจุบันทันด่วน จนยับยั้งห้ามใจไม่ทัน ลูกเองก็กลัว เจ็บปวด ร้องไห้ โศกเศร้า เสียใจ เครียด วิตกกังวล หมดกำลังใจ สับสน หวาดระแวงหากโดนตีซ้ำ ๆ เป็นประจำหรือต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางจิตใจและความสุขของลูกในระยะยาว

           ปัจจุบันโลกเปลี่ยนไปแล้ว พ่อแม่รุ่นใหม่มีคติประจำใจว่า “รักวัวให้ผูก รักลูกไม่ตี” ไม่มีการใช้ความรุนแรงกันในครอบครัว การให้ความรักและความเข้าใจเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูก และเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาทักษะด้านอารมณ์และพัฒนาการด้านอื่น ๆ ของลูก ซึ่งเราจะทำตามคตินี้ได้โดยไม่ยาก เพียงแค่ใส่ “หัวใจ” ลงไปในการกระทำเท่านั้น ผลลัพธ์ที่ได้เกินคุ้ม มาดูกันค่ะ

 

สอนลูกให้เห็นและยอมรับความผิดพลาดที่ลูกทำ

          ทันทีที่เราเห็นลูกทำผิดพลาดไม่ว่าในเรื่องใด ก่อนอื่นให้ระงับสติอารมณ์ของตนเองก่อน ใจเย็นเข้าไว้เมื่อพูดคุยกับลูก เพราะการระเบิดอารมณ์ใส่ลูกหรือตีลูกรุนแรง มีแต่ทำให้สถานการณ์แย่ลง ลูกจะตื่นตระหนกจนไม่รับรู้คำพูดใด ๆ ของเรา เอาแต่ร้องไห้ และภาพจำแห่งความกลัวนี้จะฝังใจลูกไม่รู้ลืม ลูกจะขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง

           อย่างเช่น บังเอิญลูกทำจานแก้วเจียระไนใบหรูแสนโปรดราคาแพงยับของเราตกแตก ขณะเกิดเหตุทั้งลูกและเราต่างตกใจในสิ่งที่เกิดขึ้น ลูกกลัวที่ทำของแตก เราเสียดายของที่แตก แต่เราต้องควบคุมสติอารมณ์ให้ได้ก่อนลูก กันลูกออกจากสถานการณ์ที่กำลังเผชิญกันอยู่ เพราะเศษแก้วแตกอาจกระเด็นโดนลูก หรือลูกอาจเหยียบเศษแก้วได้ เราจัดแจงเก็บกวาดพื้นที่บริเวณนั้นจนสะอาดและปลอดภัย เสร็จแล้วพาลูกไปนั่งคุย ชี้แจงให้เห็นถึงความผิดพลาด และให้ลูกยอมรับเพื่อการแก้ไข บอกลูกถึงความสำคัญของจานแก้วใบนั้น อันตรายจากการโดนเศษแก้วที่กระเด็นใส่ และการระวังตัวไม่ให้เกิดความผิดพลาดขึ้นอีก

           สิ่งสำคัญคือเราต้องไม่ลืมว่าการกอดของเรา มีความหมายต่อจิตใจของลูกมากในภาวะที่หวั่นไหวต่อเหตุการณ์ การกอดเป็น “ยาชูใจ” ที่สำคัญ ช่วยให้ลูกเข้มแข็งและรู้สึกว่าอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย รับรู้ว่าเราให้อภัย รักและห่วงใยลูกเสมอ ต้องการให้ลูกทำดีเป็นคนดี ลูกจะเกิดความมั่นใจ มีความสุข และพยายามทำตามคำสอน ความรัก ความเข้าใจ และการสอนในทิศทางที่ถูกต้องของเรา เป็นการสร้างพื้นฐานชีวิตที่แข็งแรงและมั่นคงให้ลูก ช่วยให้ลูกเติบโตและมีพัฒนาการที่ดีเพื่อเป็นเด็กดีของพ่อแม่ และเป็นคนดีของสังคมในอนาคต

 

ใช้ปิยวาจาเป็นเบ้าหลอมความดีให้ลูก

           การฝึกสอนที่ดีควรให้ความสำคัญในการเสริมสร้างความเข้าใจและวิธีการแก้ไขปัญหา ด้วยการใช้คำพูดที่สุภาพ อ่อนโยน และจริงใจ โดยไม่ต้องใช้การตี หากลูกเติบโตมาในครอบครัวที่ใช้ความรุนแรงหรือถ้อยคำหยาบคาย ลูกก็จะเห็นตัวอย่างที่ไม่ดี ซึ่งส่งผลให้ลูกมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเช่น ชอบใช้กำลัง ทำร้ายผู้อื่นด้วยคำพูด มีนิสัยก่อกวน หรือแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงอื่น ๆ ซึ่งทำให้ลูกเป็นเด็กมีปัญหา เข้ากับคนอื่นได้ยาก และเกิดปัญหาการปรับตัวในสังคมในภายหลัง ดวงตาคือหน้าต่างของหัวใจ สายตาที่เต็มเปี่ยมด้วยความรักความเมตตาและการให้อภัยของเรา ร่วมกับปิยวาจาในการฝึกสอนจะเป็นเบ้าหลอมความดีให้ลูกได้ โดยมีเราเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกดำเนินรอยตาม ด้วยการไม่ใช้ความรุนแรงในครอบครัว

 

เสริมสร้างทักษะชีวิตในการมีระเบียบวินัยเชิงบวกให้ลูก

           เมื่อลูกได้เรียนรู้ทักษะชีวิตในการมีวินัยเชิงบวก และปฏิบัติตามได้เองด้วยความเข้าใจ รับรองได้ว่าการตีลูกจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลย ตัวอย่างเช่น ครอบครัวเรามีกฎระเบียบของบ้าน ซึ่งลูกจะต้องมีวินัยในการปฏิบัติตาม  ทั้งในเรื่องการตื่นนอนและการเข้านอน ช่วงเวลาในการรับประทานอาหาร การอาบน้ำแต่งตัว การอ่านหนังสือและทำการบ้าน การออกกำลังกาย การเล่นกับเพื่อนหลังเลิกเรียน การดูภาพยนตร์การ์ตูนหรือเล่นเกมเพื่อผ่อนคลาย หรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ เราต้องเสริมสร้างทักษะชีวิตในการมีวินัยให้ลูก ด้วยการพูดคุยกับลูกให้ชัดเจนถึงความสำคัญและประโยชน์ที่ลูกจะได้รับ เมื่อปฏิบัติตามด้วยความเต็มใจ เป็นการเสริมสร้างให้ลูกเรียนรู้พฤติกรรมที่ดี ทำกิจวัตรที่เหมาะสมกับวัย และมีความรับผิดชอบต่อตนเอง

           หากลูกไม่ปฏิบัติตามกติกาที่วางไว้ เราต้องตักเตือนอย่างสร้างสรรค์และเชิงบวก โดยไม่มีการตี พูดคุยและรับฟังความคิดเห็นของลูกบ้าง ลูกอาจมีเหตุผลที่อยากบอกเราก็ได้ หรือหากลูกหย่อนวินัยในบางเรื่อง ก็อาจโดนลดเวลาเล่นเกมลง และหากลูกทำได้ครบถ้วนได้เอง เราต้องให้คำชมเชย ให้รางวัลด้วยการหอมแก้มฟอดใหญ่ หรือพาไปเที่ยวสวนสัตว์ในวันหยุด หรือให้เวลาขี่จักรยานเล่นกับเพื่อนเพิ่มขึ้น

           ลูกยังเล็ก เป็น “ไม้อ่อนที่ดัดง่าย” การฝึกสอนลูกในทางที่ถูกต้องและเหมาะสม โดยปราศจากการทำให้ลูกบอบช้ำทั้งทางร่างกายและจิตใจด้วยการตี เป็นการส่งเสริมพัฒนาทักษะชีวิตให้ลูก และเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว ซึ่งช่วยให้ลูกเติบโตอย่างมีพัฒนาการที่ดี มีความสุข เป็นคนดีมีคุณภาพของครอบครัว สังคม และประเทศชาติได้

 

ณัณท์

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook TCAS
  • 29 Followers
  • Follow